ลัวะ

ลัวะ
 

ลัวะ
          ลัวะ หรือ ละว้า หรือ ละเวือะ คือชนเผ่าพื้นเมืองก่อนชาติพันธุ์ไท เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมก่อนการสร้างชาติรัฐล้านนา ในอดีตลัวะเคยมีวิวัฒนาการที่เจริญรุ่งเรือง มีการสร้างบ้านแปลงเมือง มีระบอบการปกครอง มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เมื่อถูกชาติพันธุ์ไทรุกรานจึงถอยร่นสู่ที่ราบเชิงเขาและสันเขา ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตอนเหนือของลาว และทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และน่าน ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวลัวะนิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคาสูงชันคลุมลงเกือบจรดพื้นดิน มุงด้วยหญ้าคาหรือตองตึง มีกาแลสลักไขว้กันสองอันเป็นหน้าจั่ว และเนื่องจากชาวลัวะมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม รอบ ๆ หมู่บ้านจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์
          ชาวลัวะมีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษาลัวะ เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก กลุ่มมอญ-เขมร แต่เดิมมีการนับถือผี โดยเฉพาะผีเสื้อบ้าน และผีบรรพบุรุษ โดยเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะนับถือสายผีตามสามี และบุตรชายคนเล็กจะได้สิทธิ์ในการรับมรดกและดูแลสายผี ภายหลังเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบ จึงได้มีการนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อดั้งเดิม และซึมซับรับวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน
          สตรีชาวลัวะนิยมสวมเสื้อสีขาวหรือสีดำแขนสั้นกุ๊นด้วยด้ายสี นุ่งซิ่นสั้นครึ่งเข่าสีดำมีลายคั่นเป็นแถบสีแดง ชมพู  และน้ำเงินแซมขาว  ซึ่งได้จากการมัดย้อมหรือปั่นไก พันแขนด้วยผ้าปอเต๊ะ พันขาด้วยผ้าปอซวง สตรีชาวลัวะนิยมแสกกลางศีรษะมวยต่ำไว้ท้ายทอย ประดับมวยผมด้วยปิ่นขนเม่น สวมสร้อยเงินเม็ด สร้อยลูกเดือย สร้อยลูกปัดสีแดง สีส้ม สีเหลือง และใส่ตุ้มหูไหมพรมยาวถึงไหล่ ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อแขนยาวสีขาวผ่าหน้า นุ่งกางเกงสะดอขาว เคียนหัวด้วยผ้าสีแดงหรือชมพู และพกมีดด้ามงาช้าง

 

ฐาปนีย์ เครือระยา

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 
ลัวะ
ลัวะ
ลัวะ
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
119
4
27
3
13
2
2
1
10
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 31,721 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด