ปรัชญาการรักษาโรคแบบตะวันออก- อัตลักษณ์ของอาเซียน

ปรัชญาการรักษาโรคแบบตะวันออก- อัตลักษณ์ของอาเซียน
 

         ประวัติศาสตร์ของแนวคิดและการรักษาโรคของตะวันออกมีความเป็นมายาวนาน  และมีความคล้ายคลึงกันทั้งๆ ที่ทวีปเอเซียเป็นทวีปที่กว้างใหญ่ โดยเฉพาะในอาเซียน ไม่ว่าไทย พม่า ลาว เขมร แม้กระทั่งชาวเกาะแบบฟิลิปปินส์ อินโดเนเซีย ก็ล้วนมีปรัชญาในการรักษาแบบพื้นถิ่นที่ใกล้เคียงกัน กล่าวได้ว่าอัตลักษณ์ของการแพทย์โบราณของอาเซียนนั้นเป็นอย่างเดียวกัน

การแพทย์พื้นบ้าน การดูแลสุขภาพของคนเอเซีย หรือชาวอาเซียน นับได้ว่าเป็นปรัชญาที่มีรากเหง้าอันเดียวกัน  คนเอเชีย และชาวอาเซียนให้ความสำคัญกับอาหารการกิน  ถือว่าอาหารเป็นยา  ดังนั้นจึงมีอาหารต้องห้ามในแต่ละโรค  มีอาหารที่ต้องกินหากป่วยด้วยโรคหนึ่ง ๆ   มีการใช้สมุนไพรที่ใกล้เคียงกัน  มีการนวด  และแม้แต่การออกกำลังกายก็มีปรัชญาตรงกัน คือ  ใช้หลักกายเคลื่อนไหว ใจสงบ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ  ชี่กง ไท้เก็ก  หรือ ฤาษีดัดตน

          ปรัชญาการรักษาสุขภาพของคนเอเชียมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่อินเดีย และจีน  ดูเหมือนว่าทั้งสองแห่งนี้ก็ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดของกันและกันอยู่ไม่น้อย  ส่วนชนชาติเอเซียอื่นๆ โดยเฉพาะในอาเซียน แม้ว่าจะมีภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพของตนเองแต่ก็ได้รับอิทธิพลจากจีนบ้าง  อินเดียบ้าง แล้วแต่ว่าในสมัยโบราณชาติไหนจะมีการสมาคม  ติดต่อกับที่ไหนมากกว่า 

          ในอินเดียมีการรักษาเป็นระบบมาตั้งแต่ 2,400 ปีก่อน อินเดียมีตำราอายุรเวท  ซึ่งแปลว่า “วิทยาการแห่งชีวิต”  เปรียบเสมือนตำราแพทย์เล่มใหญ่  ภาคส่วนที่เป็นตำรายาชื่อ “จารกะ สังหิตา” เขียนขึ้นโดยหมอยาโบราณชื่อจารกะตั้งแต่ 1,000  ปีก่อนคริสตกาล และมีภาคส่วนของตำราศัลยกรรมชื่อ “ศศรุต  สังหิตา” ซึ่งเขียนขึ้นโดยหมอศัลยกรรมคนแรกๆ ของโลกก็ว่าได้  ชื่อ ศศรุตตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล 

จะเห็นว่าความรู้การแพทย์แผนตะวันออก  มีความรอบด้านคล้ายๆ กับการแพทย์ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ตำราอายุรเวทจะมีการกล่าวถึงการใช้สมุนไพร เกลือแร่ การผ่าตัด การรักษาโรคด้วยพิธีกรรม  และการให้ทาน

          ความเชื่อทางการแพทย์ตามแบบอายุรเวท เน้นหนักไปที่ปราณหรือพลังชีวิต  ในร่างกายมีทางเดินของปราณที่แน่นอน การเคลื่อนที่ของปราณมีจุดตัดกันที่เรียกว่าจักระ  จักระทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 7 ตำแหน่ง  เรียงกันอยู่ตรงกลางของลำตัวตามแนวของกระดูกสันหลัง  เรียงจากบนลงล่าง  ตั้งแต่กระหม่อมลงไปถึงก้นกบ  แต่ละจักระมีความสัมพันธ์กับต่อมต่างๆ  ในร่างกาย  คนอินเดียเชื่อว่า เมื่อใดที่จักระเสียความสมดุล  หรือการเคลื่อนไหลของปราณติดขัด  ร่างกายก็จะป่วย  การรักษาโรคจึงต้องปรับจักระที่มีปัญหา  โดยการใช้ยาสมุนไพร  อาศัยการนวด  และการฝึกโยคะ

          การแพทย์แผนจีนก็มีการพูดถึงการเคลื่อนไหวของพลังงานหรือชี่  ชี่มีความสัมพันธ์กับอวัยวะภายในต่างๆ  กัน  และแนวคิดของการเกิดโรคก็เป็นเช่นเดียวกับอินเดีย  หากเมื่อใดที่ทางเดินของชี่ติดขัดก็จะเกิดความเจ็บป่วย  ปรัชญาการรักษาโรคของจีนจึงอาศัยหลักคิดทำนองเดียวกับอินเดีย  คือต้องแก้ไขความติดขัดของชี่ โดยใช้สมุนไพร  ใช้การฝังเข็ม ชี่กง และการรมยาเป็นต้น

          ปรัชญาการใช้สมุนไพรและเกลือแร่จำแนกตามรส คือ ขม  หวาน ฝาด เค็ม เผ็ด  และ  เปรี้ยว  อาศัยแนวคิดที่ว่า รสที่ต่างกันมีผลต่ออวัยวะภายในที่ต่างกัน เช่น รสเผ็ดมีผลต่อปอดและลำไส้ใหญ่  รสหวานมีผลต่อกระเพาะและม้าม  รสเปรี้ยวมีผลต่อตับ และถุงน้ำดี เป็นต้น 

การแพทย์แผนจีนและแผนไทยก็ใช้แนวคิดทำนองเดียวกันนี้  รสของสมุนไพรที่ต่างกันก็จะใช้รักษาโรคต่างกันไป  แนวคิดนี้ยังครอบคลุมถึงรสชาติของอาหารด้วย คนเอเชียส่วนใหญ่ถือว่าอาหารเป็นยา  ในแต่ละฤดูกาลจะกินอาหารอย่างไรจึงจะไม่ป่วย  หากไม่สบายแล้วจะต้องกินอย่างไรก็อาศัยแนวคิดเรื่องรสเป็นหลัก

          สำหรับการผ่าตัด  ต้องยอมรับว่าอินเดียเป็นชาติที่ทำการผ่าตัดนำหน้าชาติเอเชียอื่น ๆ   จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  อินเดียมีบทลงโทษนักโทษที่หนักหนาสาหัสรองจากการประหารชีวิตคือ ยังให้รักษาชีวิตเอาไว้ได้  แต่ให้ตัดมือและเท้าเป็นการประจาน ซึ่งหมายความว่า ต้องอาศัยฝีมือผ่าตัด เย็บแผล ห้ามเลือด ตกแต่งบาดแผล เพื่อรักษาชีวิตให้รอด 

นอกจากนี้ยังมีการแพทย์ กล่าวถึงการผ่าตัดไต  ผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและการผ่าตัดอื่นๆ สำหรับการผ่าตัดในช่องท้องอินเดียก็มีเทคนิคเย็บปิดหน้าท้องเฉพาะ  ที่ใช้มดดำตัวใหญ่  อาศัยเขี้ยวอันโตของมันหนีบผิวหนังทั้งสองด้านให้ติดกัน  มดดำยังมีกรดมดที่เข้มข้น เป็นยาแก้อักเสบของแผลได้อย่างดี   อินเดียมีเข็มสำหรับเย็บแผลที่ผิวหนังหน้าตาคล้ายเข็มเย็บผ้าผ้าธรรมดา  แต่ใช้เส้นผมหรือเอ็นสัตว์ หรือเส้นใยจากพืชแทนด้ายหรือไหม

          ในจีน เริ่มแรกทีเดียว  การแพทย์เป็นศาสตร์ที่ผสมผสานกันระหว่างการรักษากับศาสนา  ราวคริสตศักราชที่ 500 หมอจึงมีบทบาทในการรักษาอย่างแท้จริง  แต่การแพทย์แผนจีนไม่ค่อยมีศัลยกรรม  อย่างมากก็มีแค่การฝังเข็ม การเจาะเลือดเอาเลือดออกเพื่อรักษาโรค แต่จีนเด่นในเรื่องสมุนไพร   จีนมีตำรายาสมุนไพรเป็นพัน ๆ ตำรับ ตำรายาที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ตำราของจักรพรรดิ์เหลือง  “หวงตี้ เน่ยจิ่ง”

          แนวคิดทางการแพทย์ของแผนจีนต่างจากของอินเดียอย่างชัดเจน ตรงที่ใช้ ทฤษฎีหยิน

หยาง  ที่จริงความเชื่อของจีนนั้นหยินกับหยางเป็นหลักที่ใช้ได้ครอบจักรวาล  ทุกอย่างรอบตัวเราประกอบด้วยความสมดุลของหยิน-พลังเย็น-กับหยาง-พลังร้อน-ทั้งนั้น 

          จีนยังให้ความสำคัญกับการจับชีพจรรักษาโรค  หมอจีนต้องเรียนรู้ว่าชีพจรมีความแตกต่างกัน แต่ละข้อมือมีตั้ง 6 ชีพจร  สองมือรวมกันก็มีชีพจรถึง 12 แบบ แต่ละแบบแทนการไหลของชี่แต่ละเส้น  และบ่งบอกถึงนัยแห่งโรคที่แตกต่างกัน  หมอจีนอาจจะอธิบายถึงลักษณะของชีพจรว่า “ไหลเหมือนน้ำ”  หรือ “เหมือนน้ำหยดลงมาจากหลังคา”  ซึ่งลักษณะนี้เองที่บอกถึงโรคที่แตกต่างกัน

          ยาจีนมีชื่อเสียงมานาน มีมากกว่า 16,000 ขนาน  และปัจจุบันก็ใช้กันไปทั่วโลก  ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้  ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครไม่รู้จักโสมในแง่เป็นยาชูกำลัง  ใช้ได้ดีสำหรับคนแก่  และคนที่มีอาการอ่อนเพลีย

          จีนยังเด่นในเรื่องของการฝังเข็ม  การฝังเข็มคือการปักเข็มเข้าไปยังจุดต่างๆ ในร่างกายที่อยู่บนเส้นโครจรของพลัง  ด้วยความเชื่อที่ว่าเข็มที่ฝังลงไปชั่วครู่ยามจะช่วยปรับสมดุลของการเคลื่อนที่ของพลังในร่างกาย  การเลือกใช้จุดฝังเข็มขึ้นอยู่กับโรคและการวินิจฉัยโรค 

จากตำราของจักรพรรดิเหลืองซึ่งมีอายุเกือบ 2,500 ปี  กล่าวถึงการฝังเข็มว่ามีหลายรูปแบบ  และกำหนดจุดฝังเข็มเอาไว้ประมาณ 300-600 จุด  ซึ่งเห็นได้จากรูปสัมฤทธิ์ที่ขุดได้ในจีนเมื่อศตวรรษที่ 18  เป็นรูปปั้นที่แสดงถึงจุดฝังเข็มตามร่างกาย  และมีเส้นโคจรของพลังงานชี่ 12 เส้น

          การแพทย์ของทิเบตรับเอาแนวคิดของนานาประเทศเอาไว้หลากหลาย  ยาสมุนไพรมีส่วนคล้ายคลึงกับการแพทย์จีนค่อนข้างมาก  แนวคิดเกี่ยวกับสรีระเป็นแบบกรีกและอราบิก  คือเชื่อว่ามีน้ำเหลืองในร่างกาย  การแพทย์ทิเบตมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด และจิตวิญญาณซึ่งรับเอามาจากอินเดีย  พระลามะยังใช้การสวดมนตร์รักษาโรค  ซึ่งศาสตร์แห่งการแพทย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธนิกายวัชระยานเลยทีเดียว 

หมอยาในทิเบตไม่มีสำนักแน่นอน  แต่จะร่อนเร่เดินทางไปรักษาผู้คนโดยแบกร่วมยาที่เต็มไปด้วยสมุนไพร  เขาสัตว์  ไม้กวาดยา  แถมด้วยมีดและหินลับมีดเอาไว้ลับมีดให้คมยามที่ต้องการผ่าตัด      

การแพทย์แผนไทย  มีความเป็นมาของเราเอง  ถือหลักเป็นการแพทย์แนวพุทธะ  เดิมทีการแพทย์จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด   มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางธรรมชาติ ใช้การผูกหรือมัดขวัญ การเสกเป่า การแก้บน การสืบชาตา และมีการใช้น้ำมนต์ ซึ่งปรับเป็นวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของคนไทยโบราณ 

คนโบราณไม่ได้มองว่าโรคมีสาเหตุจากเชื้อโรค  แต่การเกิดโรคเป็นเพราะร่างกายขาดความสมดุลของธาตุสำคัญทั้งสี่  คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือขาดความสมดุลกับธรรมชาติ อากาศ ฤดูกาล เป็นต้น การตรวจวินิจฉัยของหมอไทยจะเน้นเรื่องของวันเดือนปีเกิด  เพราะมีแนวคิดที่ว่า คนเราเกิดมามีธาตุเจ้าเรือนกำหนดมาตั้งแต่ในครรภ์มารดา  จากนั้นจึงตรวจดูว่าอาการที่มีเป็นอาการของธาตุใด  ธาตุทั้งสี่ไม่สมดุลอย่างไร  อันไหนหย่อน อันไหนกำเริบ หรือพิการอย่างไร จากนั้นจึงใช้ยาสมุนไพรรักษา

          การรักษาตามแนวแผนไทยจะเน้นการใช้ยาสมุนไพรเป็นหลัก  ประกอบกับการนวด  อบประคบ  ไม่มีการผ่าตัด  แม้ว่าหมอไทยมี “มีดหมอ”  แต่ก็ไม่ได้ใช้ผ่าตัด   หากใช้ข่มความเจ็บป่วยด้วยคาถาอาคม  เพื่อสร้างศรัทธา และความขลังในการรักษาเท่านั้น  การลงมีดหมอก็ไม่ได้เกิดบาดแผลใดๆ บนร่างกาย

          การแพทย์แผนไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย  ยาสมุนไพรส่วนหนึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของเราเอง  แต่ก็มีบางส่วนที่รับมาจากอินเดีย  มีที่รับมาจากจีนบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย  ฤาษีดัดตนก็เป็นศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับโยคะของอินเดียมาก  ฤาษีหรือโยคีผู้ปฏิบัติโยคะก็มีที่มาจากชมพูทวีป

          การแพทย์พื้นบ้านทั่วโลกล้วนมีความเป็นมาอันยาวนาน  แต่ทั้งหมดมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ  เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น  ที่มนุษย์ดิ้นรนเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ  สาเหตุของโรคเกิดจากเงื่อนไขภายในร่างกาย  การรักษาจึงเป็นการอาศัยธรรมชาติรอบตัวมาปรับสมดุลให้กับร่างกายของตนเอง  ปรัชญาการแพทย์โบราณไม่ว่าของชาติไหน เอเชีย อาเซียน อัฟริกา หรือแผนตะวันตก จึงมีจุดอ่อนอยู่ที่ ไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อจากเชื้อโรค

          เมื่อ อเล็กซานเดอร์  เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลินฆ่าเชื้อแบคทีเรีย  จุดนั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนของการแพทย์แผนตะวันตก  เป็นจุดแห่งพัฒนาการของการแพทย์แผนปัจจุบันที่อาศัยยาเป็นหลัก  แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันมีบทบาทสูงมาประมาณ 300 ปี  มนุษย์เราก็เริ่มไม่พอใจในวิธีการรักษาแผนปัจจุบันอีกโดยเฉพาะวิธีการรักษาโรคเรื้อรัง

          ไม่ว่าที่ไหนในโลก  คนเราต่างก็หันไปหาการแพทย์แผนพื้นถิ่นที่มีความเป็นมาที่ยาวนานกว่า  ที่เน้นความเป็นสมดุลภายในร่างกายเพื่อการหายของโรค

          จึงไม่น่าแปลกใจที่ยุคนี้  กลับกลายเป็นยุคเฟื่องของการแพทย์ที่นำเสนอภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายาปฎิชีวนะมีคุณยิ่งต่อการรักษาโรคติดเชื้อ  ทางออกเพื่อการรักษาที่สมบูรณ์คือ  จะต้องประสานปรัชญารักษาโรคแบบบรรพบุรุษให้เข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบันการรักษาโรคจึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

                                                                             พญ.ลลิตา  ธีระสิริ 

                                                              บัลวีเวียงพิงค์ศูนย์ธรรมชาติบำบัด

 

 
ปรัชญาการรักษาโรคแบบตะวันออก- อัตลักษณ์ของอาเซียน
ปรัชญาการรักษาโรคแบบตะวันออก- อัตลักษณ์ของอาเซียน
ปรัชญาการรักษาโรคแบบตะวันออก- อัตลักษณ์ของอาเซียน
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
21
4
2
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 7,777 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด