การจุดโคมนั้น นิยมทำกันอย่างมากในเทศกาลยี่เพง (อ่าน “ยี่เป็ง” ) คือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทยกลาง ในวันนั้นจะมีการจุดประทีปโคมไฟรวมทั้งบอกไฟดอก คือดอกไม้เพลิง บอกไฟดาวคือพลุที่ยิงขึ้นไปเห็นเป็นดาวตกจากท้องฟ้า พร้อมทั้งบอกไฟหรือดอกไม้ไฟชนิดอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ในตอนพลบค่ำของวันยี่เพงนั้นจะมีการเทศน์จากคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีป เมื่อจบแล้วก็จะจุดประทีปโคมไฟตามบ้านเรือนขึ้นพร้อมๆกัน อาทิ โคมผัด คือโคมที่หมุนได้ ซึ่งคล้ายกับที่ทางภาคกลางเรียกว่า โคมเวียน โคมนี้ทำเป็นรูปกระบอกขนาดกว้าง ประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 70 เซนติเมตร หุ้มด้วยกระดาษสาหรือกระดาษว่าวสีขาว อาจทำเป็นสองชั้นหรือชั้นเดียวก็ได้ หากทำครอบสองชั้นแล้ว ชั้นในจะมีภาพต่างๆ ปิดไว้เป็นระยะๆให้พองาม มีสายหรือซี่โยงจากกรอบเข้าหาแกนกลางซึ่งทำเป็นตุ่มใส่ไว้ในก้นถ้วย ปิดแถบกระดาษเข้ากับสายหรือซี่นั้นโดยให้มีมุมและระยะที่ลงตัว เมื่อจุดเทียนซึ่งติดตั้งไว้กลางโคมนั้น ความร้อนจากเปลวเทียน จะไปกระทบแถบกระดาษและจะผลักให้ส่วนที่เป็นโครงครอบนั้นให้ผัดคือหมุนไปเรื่อยๆ เงาของภาพที่ปิดไว้จะส่องไปกระทบกับครอบชั้นนอก สร้างความเคลื่อนไหวด้วยแสงและเงาได้ในระดับหนึ่ง
ข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 3
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |