สืบชะตาคน

สืบชะตาคน
 

ชาตา คือลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีและชั่ว เช่น ชะตาดี ชะตาร้าย หรือรูปราศีที่มีดาวพระเคราะห์เดินถึงราศีนั้นในเวลาเกิดของคน เรียกว่าชะตาคน

การแก้ไขชะตาร้ายชะตาขาดของคนโบราณมีด้วยกันหลายวีธี เช่น การส่งกิ่ว การบูชานพเคราะห์หรือการทำพิธีสืบชะตา เป็นต้น

โดยสิ่งที่ใช้ในประกอบพิธีจะประกอบด้วย

บายสรี มาจากคำว่า บายเป็นภาษาเขมรแปลว่า ข้าวส่วนคำว่า สรีมาจากภาษาสันสกฤตตรงกับภาษาบาลีว่า สิริซึ่งแปลว่ามิ่งขวัญหรือสิริมงคล ดังนั้น คำว่าบายสรี จึงแปลว่า ข้าวขวัญหรือข้าวที่จัดเพื่อเป็นสิ่งมงคล โดยในรูปภาพนี้คือบายสรีนมแมว เป็นบายสรีพิเศษสำหรับใช้กับทุกคนทุกชั้น โดยเฉพาะในพิธีเรียกขวัญลูกแก้ว คือการนำใบตองมาพับให้ปลายเรียวแหลมหลายๆอัน แล้วนำมาทับซ้อนทับให้เหลื่อมล้ำกันขึ้นไป จะมีกี่อันก็ได้แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ ซึ่งใบตองที่ซ้อนกันนี้เรียกว่า นมแมว

ไม้ค้ำ คือชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นไม้โตเร็ว ตัดให้ปลายมีง่ามเรียกว่าไม้ค้ำจำนวน 2 อัน ไม้ไผ่บง 2 ท่อน เจาะใส่สลักให้ติดกันทำเป็นสะพานคู่ ไม้ไผ่เรี้ยหรือไม้ซางของภาคกลาง 2 ท่อน ท่อนแรกด้านหนึ่งใส่น้ำแล้วปิดรูด้วยใบตองแห้ง ด้านหนึ่งใส่ทรายแล้วปิดรู อีกท่อนหนึ่ง ด้านหนึ่งใส่ข้าวเปลือกแล้วปิดรู ด้านหนึ่งใส่ข้าวสารแล้วปิดรู เรียกว่า บอกน้ำ บอกซาย บอกเข้าเปลือก(ข้าวเปลือก) บอกเข้าสาน(ข้าวสาร) ทั้งนี้ความยาวของไม้ค้ำ สะพานและกระบอกต่างๆนี้ ให้ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา เรียกว่า ยาวค่าฅิง ผู้ชายยังต้องเป็นฝ่ายจัดหาหน่ออ้อย หน่อกล้วย กล้าหมาก กล้ามะพร้าวมาเข้าพิธีด้วย และจะต้องมีก้านกล้วยมา 2 ก้าน สูงเท่ากับไม้ค้ำใช้ตอกแข็งเสียบก้านกล้วย 2 อัน ทำคล้ายกับบันไดกว้างประมาณ 40 เซนติเมตรแล้วผูกฝ้ายดึงจากบนลงล่าง จำนวน 6 สาย แล้วผูกหอยเบี้ยสายหนึ่ง หมากพลูสายหนึ่ง ข้าวตอกสายหนึ่ง เงินสายหนึ่ง ทองคำสายหนึ่ง กล้วยอ้อยสายหนึ่ง รวมเรียกว่า ลวดเงินลวดฅำ(ทอง)

ฟั่นเทียนที่เรียกว่า สีเทียนด้วยขี้ผึ้ง 1 เล่ม โตเท่ากับหัวแม่มือ ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา เรียกว่าเทียนค่าฅิง เอากระดาษสากว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา มาตัดเป็นทุงโดยทำเป็นดั่งหัวคน เป็นลำตัว เป็นหาง เรียกว่า ทุงค่าฅิง(ตุงค่าคิง) เอากระดาษสามาตัดเป็นธง 3 เหลี่ยม กว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร จำนวนเท่าอายุของเจ้าชะตา แล้วปักกับก้านกล้วย และจะต้องมีของบูชาขันตั้งขันครู ให้กับอาจารย์ที่จะมาประกอบพิธีคือ แต่งเบี้ย หมากไหม ผ้าแดง ผ้าขาว เทียนเหล้มบาท หมาก 4 ก้อม เสื่อใหม่ หม้อใหม่ ข้าวเปลือกประมาณ 1.5 กิโลกรัม เรียกว่า เข้าเปลือกหมื่นเข้าสารพัน

สิ่งที่จะต้องเตรียมในการทำพิธีสืบชะตาคน

1.นิมนต์พระ 9 รูปหรือมากกว่า หากจัดสวดพร้อมกันทุกจุดก็จะต้องใช้พระสงฆ์แจ่งบ้านละ 9 รูป รวมทั้งส่วนกลางด้วยเป็น 45 รูป (หากไม่มีเหตุร้ายแรงจริงๆก็จะนิมนต์พระเพียง 9 รูป)

2.เตรียมเครื่องสังเวยท้าวทั้งสี่ เครื่องบูชาเสื้อบ้าน หรือเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน

3.เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำพิธี เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว หมาก พลู  เครื่องขบเคี้ยว ฯลฯ

4.เตรียมเครื่องคำนับครูของอาจารย์ผู้ประกอบพิธีซึ่งจะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน เบี้ย 108 ข้าวเปลือกข้าวสารอย่างละกระทง ผ้าขาวผ้าแดงอย่างละ 2 ศอก เงิน 6 บาทหรือตามแต่อาจารย์กำหนด

5.เตรียมเครื่องสืบชาตา เช่น ไม้ค้ำ ขัวไต่ ลวดเงิน ลวดทอง กระบอกน้ำ ฯลฯ

6.ขันหรือกระบุงใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร และทราย

7.ให้ทุกครอบครัวเตรียมน้ำส้มป่อยหรือน้ำอบน้ำหอมและทรายมาร่วมพิธี ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีแล้วจะได้นำกลับไปโปรยที่บ้านเรือนของตน

8.ตาแหลว หรือเฉลวและเชือกที่ฟั่นด้วยหญ้าคาสด

 

ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 7

 
สืบชะตาคน
สืบชะตาคน
สืบชะตาคน
สืบชะตาคน
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
50
4
4
3
2
2
0
1
1
เผยแพร่เมื่อ 27 ตุลาคม 2563 • การดู 12,733 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด