หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก

หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
 

 

“หำยนต์”  หรือ “หัมยนต์” เป็นแผ่นไม้แกะสลักที่มีขนาดเท่ากับความกว้างของประตู วางอยู่เหนือกรอบประตูห้องนอนของเรือนล้านนา  ซึ่งคำว่า “หำยนต์” หากเขียน “หำยน” ตามที่พบทั่วไปนั้น มักได้รับคําอธิบายว่าเป็นคําซึ่งประกอบด้วย หำ และ ยนต์ บางคนเรียก หำโยน หรือห้ามโยน ก็มี โดยที่มาของหำยนต์ พอจะสรุปได้ 2 ประเด็น คือ

  1. เป็นภาษาล้านนาที่มาจากการผสม 2 คำ คือ “หำ” และ “ยน”  โดยคำว่า “หำ” แปลว่า “อัณฑะ”หมายถึงสิ่งรวมพลังของบุรุษชน ส่วนคำว่า “ยนต์” น่าจะมาจาก “ยนตร” หรือ “ยันตร์” ในภาษาสันสกฤต อันหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกันภัยอันตรายได้
  2. เป็นคําที่สันนิษฐานขึ้นจากรูปศัพท์เดิม โดย แปลว่า “ส่วนปลายของปราสาทโล้น" ซึ่งเห็นได้ว่าชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบที่หน้าบันของวิหาร ด้วยเช่นกัน 

 

 “หำยนต์” ตามทัศนคติของล้านนา มีไว้เพื่อทําหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกัน และขับไล่ภยันตรายต่างๆ จากภายนอกมิให้ผ่านประตูเข้าไปในตัวเรือน หรือห้องนอน ป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ที่หลับนอนภายในห้องนั้น ดังนั้นหำยนต์จึงมีหน้าที่เหมือนยันต์โดยมีพลังจากเพศชายผู้เป็นเจ้าของเรือนคอยปกป้องสมาชิกในครัวเรือนทุกคน  ทั้งนี้ขนาดความกว้างของหำยนต์วัดจากความยาวของเท้าผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นๆ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าเท้าเป็นสิ่งที่ต่ำสุดจึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล แต่การใช้เท้าวัดประตูจะช่วย “ข่ม” ความไม่ดี สิ่งชั่วร้าย รวมถึงผู้คนที่มีจิตอกุศลไม่ให้เข้ามาในห้องนอนได้ หากล่วงล้ำเข้าไปในห้องนอนโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของเรือน ถือว่าเป็นการกระทำ “ผิดผี” จำเป็นต้องทำการขอขมาลาโทษ

ความยาวของหำยนต์หรือความกว้างของประตูเรือน ถูกกําหนดโดยการวัดความยาวเท้าของเจ้าของบ้าน เช่น ยาว เป็น 3 หรือ 4 เท่า เชื่อกันว่าหำยนต์สามารถให้คุณแก่ผู้เข้าใจปฏิบัติ หรือแสดงคารวะอย่างถูกต้อง และในทางกลับกันก็อาจให้โทษได้ด้วย ดังนั้นในการประดิษฐ์หำยนต์จึงมีขั้นตอนหรือพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือน และผู้อยู่อาศัย หำยนต์จะทําขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านใหม่ เจ้าของบ้านจะกําหนดให้ความกว้างของประตูและความยาวของแผ่นไม้นั้นเท่ากัน โดยใช้ความยาวของเท้าเป็นมาตรวัด เช่น “บุคคลที่เป็นนายช้าง ให้ทําประตูกว้าง 5 ช่วงเท้า คนที่เป็นนายม้า พ่อค้า และไพร่น้อย ให้ทําประตู กว้าง 3 ช่วงเท้ากับอีก 3 ช่วงหัวแม่มือ” เมื่อหาแผ่นไม้ ที่จะทําหำยนต์ได้แล้ว ก็จะนําแผ่นไม้นั้นมาทําพิธี “ถอน” เสียก่อน โดยให้อาจารย์ผู้มีวิชาหรือพระเถระรดน้ำมนต์ลงบนไม้ ซึ่งบางท่านกล่าวว่าเมื่อ “ถอน” แล้วจะต้องนําแผ่นไม้ไปผูกกับเสาเอกของบ้านด้วย ลวดลายที่แกะสลักบนหำยนต์นั้น จะเป็นไปตามที่ช่างและเจ้าของบ้านจะร่วมกันกําหนด เมื่อสร้างบ้านนั้นเสร็จแล้วจึงจะนําหำยนต์ไปติดไว้เหนือประตู ห้องนอนดังกล่าว ซึ่งก่อนจะติดหำยนต์เข้าที่จะต้องทําพิธียกขันตั้งหลวงเสียก่อน ในพิธีนั้นจะต้องมีเครื่องคารวะอันประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก พลู ผ้าขาวผ้าแดง สุรา และอาหารคาวหวานตามอัตรา และให้ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ให้มาปกป้องบ้านเรือน และผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น หากมีการขายเรือนที่มีหำยนต์เหล่านี้ก่อนย้ายเข้าหรือรื้อถอน เจ้าของคนใหม่จะต้องตีหำยนต์แรงๆ (ภาษาล้านนาคําว่า บุบ แปลว่าทุบตี) เพื่อทําลายความขลัง การทุบตี “หำยน” เปรียบเสมือนการตีลูกอัณฑะวัวหรือควายในการทําหมันในสมัยก่อน ซึ่งเป็นการทําให้หมดสมรรถภาพ การหมดความศักดิ์สิทธิ์ของหำยนต์ก็เฉกเช่นกัน เช่นเดียวกับรูปของเรือนที่ว่าพม่าบังคับให้ทําคล้ายโลงศพ มีผู้กล่าวว่า “หำยน” เป็นอัณฑะของคนพม่าที่ติดไว้เหนือประตู เมื่อเจ้าของบ้านหรือผู้คนในบ้านเดินเข้าออก ต้องลอดใต้อัณฑะ ซึ่งเป็นการข่มทําลายจิตใจมิให้กระด้างกระเดื่องต่อพม่า 

ไม้ที่ใช้แกะหำยนต์ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้สัก เพราะมีเนื้อแข็งปานกลาง ง่ายต่อการขึ้นรูป  การแกะสลักหำยนต์เริ่มต้นจากช่างแกะสลักจัดเตรียมขันตั้งไหว้ครู และบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงในระหว่างที่แกะสลักนั้นต้องท่องคาถา “อิติปิโส........” 108 จบ หรือท่องคาถา 5 พระองค์ “นะ โม พุท ธา ยะ” ตลอดระยะเวลาในการแกะหำยนต์ เพื่อเสริมสร้างสิริมงคล  เมื่อเสร็จแล้วก็ประพรมน้ำส้มป่อย เพื่อชะล้างสิ่งไม่ดีออกไป  ในอดีตลวดลายหำยนต์มี 4 ลาย ประกอบด้วย 

  1. ลายขดพญานาค ซึ่งมีตั้งแต่  3 เศียร 5 เศียร 7 เศียร 9 เศียร  
  2. ลายเครือหรือลายเถา ที่เป็นลวดลายใบไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ดอกบัว ดอกบ่าขะหนัด ดอกพุด ฯลฯ 
  3. ลายเมฆ เป็นลวดลายที่เลียนแบบเมฆ
  4. ลายซุ้มแก้ว มีโครงลายเป็นรูปซุ้มโค้ง แล้วผสมผสานลวดลายต่างๆ เข้าไว้ในกรอบซุ้ม เช่น ใช้ลายเมฆและลายพญานาคผสมกัน เป็นต้น

            หำยนต์ มีลักษณะโครงสร้างเป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ประกอบด้วยกลีบไม้จริงตีประกบเป็นโครงสร้างยึดไว้ ทำให้มีช่องว่างระหว่างไม้คั่นขนาดต่างกัน 2 ช่อง ชาวล้านนาเรียกส่วนบนที่มีขนาดเล็กว่า “ตัวผู้” ส่วน “ตัวเมีย” ขนาดใหญ่อยู่ด้านล่าง  หากเป็นหำยนต์แบบโบราณมีไม้ยื่นออกมาด้านข้างเพื่อสอดเข้าไปในช่องเหนือบานประตู  เนื่องด้วยการประกอบไม้ของเรือนล้านนาโบราณจะใช้ลิ่ม เดือย และสลัก แทนการใช้ตะปู 

รูปทรงหำยนต์แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

  1. รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  2. รูปทรงโค้งคล้ายโก่งคิ้วของวิหารล้านนา
  3. รูปทรงโค้งมีพื้นหลัง

รูปแบบของหำยนต์จำแนกโดยศึกษาจากเทคนิควิธีการทำหำยนต์ มี 3 วิธีการ คือ 

1. การแกะสลัก เริ่มจากการร่างโครงลวดลายโดยใช้สิ่วตอกลงไปบนไม้ เป็นการคัดลายให้พอทราบว่าส่วนใดเป็นลาย ส่วนใดเป็นพื้น  จากนั้นก็ใช้สิ่งขุดพื้นตามความต้องการแล้วแกะตัวลายหรือโกลนลายด้วยการใช้สิ่วแบบต่างๆ ตามความโค้งของลวดลาย  เทคนิคการแกะสลักแบบนี้พบในเรือนล้านนาแบบโบราณ หรือเรือนกาแล 

     2. การฉลุลาย เป็นหำยนต์ที่ไม่มีพื้นหลัง ด้วยการเจาะพื้นหลังให้โปร่ง เทคนิคนี้นิยมมากในช่วง ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเรือนไม้ฉลุในยุคอาณานิคม หรือเรือนขนมปังขิงของยุโรป ที่มาพร้อมกับรสนิยมตามแบบตะวันตกของพ่อค้าไม้ชาวไทใหญ่ และชาวอังกฤษที่มาอยู่ในล้านนา โดยลวดลายฉลุมักเป็นลายเครือเถาที่ได้รับการผสมผสานระหว่างลายล้านนานาและลายตะวันตก

     3. การแกะสลักและฉลุลาย เป็นการผสมผสานทั้งสองเทคนิคเข้าด้วยกัน โดยฉลุไม้ให้เป็นโครงลวดลายก่อน แล้วจากนั้นจึงแกะสลักไม้ให้มีมิติมากยิ่งขึ้น

ลวดลาย

         ลวดลายหำยนต์ เกิดจากการแกะสลักไม้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการของช่าง ที่ออกแบบผูกลายให้สัมพันธ์กัน และนิยมทำลวดลายสมมาตรเท่ากันทั้งซ้ายและขวา โดยมีตัวลายขนาดใหญ่เป็นจุดนำสายตาอยู่ตรงศูนย์กลางแผ่นไม้หำยนต์ จากการศึกษาลวดลายหำยนต์โบราณ สามารถจำแนกลายออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. ลายพันธุ์พฤกษา คือลายพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยส่วนของก้าน  ใบ ดอก มักพบว่าทำเป็นรูป ต่างๆ เช่น ลายก้านขด ลายเถาองุ่น ลายดอกพุด ลายบ่าขะหนัด(สับปะรด)
  2. ลายตัวภาพ มักทำเป็นรูปเทพและสัตว์ เช่น ลายราหู  สัตว์ป่าหิมพานต์ สัตว์ปีเปิ้ง(สัตว์ประจำปีเกิด)
  3. ลายธรรมชาติ เป็นลวดลายที่ช่างได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ นำมาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะ ส่วนใหญ่ในแถบจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนทำลวดลายเมฆไหล ซึ่งเป็นลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากลายเมฆจีนที่เลียนแบบก้อนเมฆ ส่วนในกลุ่มจังหวัดลำปางและพะเยานิยมทำลายไส้หมู ซึ่งเป็นพัฒนาการจากลายเมฆไหลคลี่คลายรูปทรงเมฆเป็นเกลียวซ้อนต่อกัน
  4. ลายมงคล เป็นลวดลายมงคลที่เชื่อว่าจะสามารถเสริมสิริมงคลในเรือนได้ ส่วนใหญ่เป็น

ลวดลายมงคล 108 และลายมงคลในพุทธศาสนา เช่น ลายประแจจีน ลายหม้อบูรณฆฏะ ลายสวัสดิกะ

  1. ลายฝรั่ง เป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากลายตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นลวดลายใบไม้ ลายเถา หรือลายหลุยส์ ลายวินเทจ ลายวิคตอเรีย ที่สมัยปัจจุบันกลับมานิยมใช้กัน

ข้อมูลโดย คุณฐาปนีย์ เครือระยา

 

โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.(2529). หำยนต์จดหมายข่าวล้านนาคดีศึกษา, ปีที่ 1 (ฉบับที่ 2), ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2529, หน้า 48. 

เฉลียว ปิยะชน. (2532). เรือนกาแล (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 151 

เรือนแบบลานนาไทย.(2521). อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2521. เชียงใหม่ เจริญการค้า เชียงใหม่. หน้า 42.

มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 14. กรุงเทพฯ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.หน้า 7545.

สัมภาษณ์พ่อครูวีระชัย มณีวรรณ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558.

ฐาปนีย์ เครือระยา. (2558). ลวดลายหำยนต์ล้านนาล้านนา. เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 5.

 
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
37
4
5
3
0
2
1
1
1
เผยแพร่เมื่อ 20 เมษายน 2564 • การดู 13,507 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด