ครกกระเดื่อง
เป็นของใช้พื้นบ้านซึ่งใช้สำหรับตำข้าว ตำถั่ว ตำข้าวโพด และตำแป้ง เป็นต้น บางทีก็เรียกครกกระดก หรือเรียกว่า มอง ก็มี
ปัจจุบันการใช้ครกกระเดื่องมีใช้กันน้อยมาก จะมีอยู่ในบางหมู่บ้านที่ไม่มีโรงสีข้าว หรืออาจจะอยู่ห่างไกล พวกชนกลุ่มน้อยบางพวก เช่น พวน โซ่ง แม้ว อีก้อ ซึ่งอยู่ในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ ยังคงใช้ครกกระเดื่องกันอยู่มากพอสมควร
ตัวครกทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่ ตัดให้เป็นท่อน สูงประมาณ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร ขุดส่วนที่สำหรับใส่เพื่อตำข้าวหรือสิ่งอื่น ๆ ให้เป็นเบ้าลึกลงไป ให้สามารถบรรจุเมล็ดข้าวเปลือกได้ครั้งละเกือบ ๑ ถัง ทำคานไม้ยาวประมาณ ๓ - ๔ เมตร เพื่อใช้สำหรับเจาะรูเส้าหรือสากไว้ตำข้าวตั้งเสา ๒ ต้นฝังดินให้แน่น อยู่ในแนวเดียวกัน กลางเสาทั้ง ๒ ต้นใช้สิ่วเจาะรู หรือบากไม้ให้เป็นร่อง แล้วสอดคานที่รูยึดเสาทั้ง ๒ ต้นให้ขนานกับพื้นดิน วางคานเส้าหรือสากให้ค่อนไปอยู่ปลายคานด้านตรงข้ามกับสาก ใช้คานสากตอกยึดกับคานไม้ที่ยึดเสา ๒ ต้น
วิธีใช้ จะวางครกไม้ให้ตรงกับเส้าหรือสาก เมื่อใส่ข้าว ข้าวโพดที่เป็นฝักๆไปแล้ว จะใช้แรงเหยียบที่ปลายคาน ด้านที่ยึดติดกับเสา ๒ ต้น เมื่อใช้แรงเหยียบกดลงไป สากจะยกขึ้นเหมือนการเล่นไม้หก เวลาจะให้ตำสิ่งที่ต้องการก็ยกเท้าลง สากจะตำสิ่งของที่เราต้องการในเบ้าครก การตำข้าว ตำฝักถั่ว ตำฝักข้าวโพด จะต้องมีคนช่วยกัน คนหนึ่งเป็นคนเหยียบ อีกคนหนึ่งจะเป็นคนกวนหรือพลิกกลับมาให้สากทุบตำได้ทั่วถึง หากเมล็ดข้าวถูกแรงตำด้วยท่อนไม้สากบ่อย ๆ จะทำให้ข้าวเปลือกกะเทาะหลุดออกจากเมล็ด ชาวบ้านจะนำเมล็ดข้าวสารไปใส่กระด้งอีกทีหนึ่ง เพื่อฝัดให้เศษผงต่าง ๆ ปลิวออกไป แล้วเลือกเมล็ดข้าวเปลือกหรือเศษกรวดดินออก ก่อนที่จะนำไปหุงต่อไป
(ขอขอบคุณข้อมูล: http://www.openbase.in.th/node/6892)
(ภาพวาด: สุขธรรม โนบาง นักช่างศิลป์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |