ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง)

ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง)
 

ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม  เป็นแหล่งที่ตั้งอาศัยของคนไทหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ไทขาว ไทดำ ไทแดง  รวมถึงกลุ่มชนเผ่าต่างๆ  ที่มีการแสดงออกทางเอกลักษณ์เฉพาะตัว  มีรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนจากการแต่งกาย ประเพณีและที่อยู่อาศัย  เป็นต้น  ในด้านสถาปัตยกรรม  บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น  เป็นการแสดงออกถึงการดำรงชีวิตอีกด้านหนึ่ง  เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย  4  ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต  เรือนของกลุ่มคนต่างๆ จึงสะท้อนถึงตัวตนของชาติพันธุ์นั้นๆ  ออกมาอย่างชัดเจน  โดยมีปัจจัยทางด้านวิธีคิดและความเชื่อประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์  เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งถิ่นฐาน

          กลุ่มชนชาวไทในเวียดนามมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย  อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขา  เลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรกรรมและมีความเชื่อที่แฝงเกี่ยวกับธรรมชาติ  ในรูปแบบของผี  ซึ่งมีทั้งผีที่เป็นรูปแบบของเทพ  คือ  ผีแถนและผีที่คุ้มครองบ้านเรือนและคนในครอบครัว  คือผีบรรพบุรุษ  ถึงแม้ว่าไทดำและไทด่อน(ไทขาว) เป็นกลุ่มชนชาติเดียวกันแต่ลักษณะของแต่ละกลุ่มนั้นก็มีสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ 

การตั้งถิ่นฐานและวิถีชีวิตของกลุ่มชาวไทดำและไทด่อน(ไทขาว)

          ในดินแดนสิบสองจุไท  อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทดำและไทด่อนมาแต่อดีต เป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ระหว่างหุบเขา  ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนามเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวลงมาจากทางตอนใต้ของจีน  เทือกเขาที่สำคัญคือ  ภูแดนดิน  ภูสามเส้า  สลับกับที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์  ส่วนสภาพอากาศจะชุ่มชื้นจนถึงแห้งแล้ง  เนื่องจากอยู่ใกล้กับเขตร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร  ในเขตป่าทึบและที่ภูเขาสูงจะมีสัตว์ป่าพืชพันธุ์ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์  จึงทำให้ประชาชนนิยมเลี้ยงชีพด้วยการเก็บของป่าและทำการเกษตร  

จากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์  การดำรงชีวิตของกลุ่มไทจึงมีความเรียบง่าย  สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี  ทั้งยังมีการเพาะปลูกเลี้ยงชีพอย่างพอเพียง  โดยแต่ละบ้านจะมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง  เพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์พอกินพออยู่ภายในครัวเรือน  ส่วนพื้นที่สาธารณะ  เช่น หนองน้ำ  แม่น้ำ  บริเวณป่า  ก็จะเป็นที่ของชุมชนในการหาปลาและของป่าได้ร่วมกันในสังคม   ดังนั้นความเป็นอยู่ภายในแต่ละหมู่บ้าน  จึงมีความสัมพันธ์กับอย่างแนบแน่น 

การสร้างเมืองของกลุ่มไทในเวียดนาม

          ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่หลายๆ ท่าน ต่างก็ให้เหตุผลที่ต่างกันว่าแหล่งที่คนไทอยู่ในปัจจุบันนี้  เป็นที่อยู่แต่เดิมหรือมีการโยกย้ายถิ่นฐาน  เนื่องจากมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของกลุ่มไทที่เป็นตำนานของพญาแถน  น้ำเต้าปุง  และตำนานเมืองแถน  อันเป็นต้นกำเนิดของเมืองในกลุ่มไท  โดยมีความคล้ายคลึงกับตำนานเรื่องเล่าคล้ายกับเผ่าไทอื่นๆ  ที่อาศัยอยู่ในจีนหรือลาว  ซึ่งการกำเนิดของกลุ่มไทเรื่องการตั้งที่อยู่แต่เดิมนั้นยังเป็นปัญหาที่นักวิชาการยังให้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้  จึงมีอยู่หลายทฤษฏี  เช่น  ในตำนานน้ำเต้าปุงก็จะเชื่อมโยงการเกิดขึ้นของคนกลุ่มข่าแจะ  ไทดำ  ลาว  ฮ่อ  และสุดท้ายคือแกว (ญวน) ว่าเกิดมาจากน้ำเต้าลูกเดียวกัน  จึงเสมือนเป็นพี่น้องกัน  จากตำนานและเรื่องเล่านี้มีการนำเอากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นมาร้อยเรียงให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างเชื้อชาติ 

ในอดีตหัวเมืองต่างๆ  ของไทดำที่มีเจ้าเมืองคนไทปกครองอยู่นั้น  มีจำนวนทั้งหมด  16 เมือง   แต่ในช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามและได้มีแบ่งดินแดนกับจีนเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่  19  ได้ยกเมืองให้จีนไป  6 เมือง  จึงเหลือเพียง  10 เมือง  ภายหลัง  ฝรั่งเศสได้ยกระดับหัวเมืองย่อยขึ้นมาเป็นเมืองหลักอีก  2  เมือง  จึงรวมเป็น  12  เมือง  และเรียกว่า  สิบสองจุไท[1]  ซึ่งเป็นเมืองที่มีกลุ่มไทด่อน  อาศัยอยู่  4  เมืองและไทดำอาศัยอยู่  8  เมืองดังนี้[2]

 

  1. เมืองแถง  หรือเมืองแถน  ( Diên Biên Phư )
  2. เมืองควาย ( Tuần Giáo )
  3. เมืองลอ  ( Nghia Lô )
  4. เมืองม่วย ( Thuần châu )
  5. เมืองลา ( Sơn La)
  6. เมืองม่วก  หรือเมืองมัวะ  หรือเมืองโมะ  ( Mai sơn )
  7. เมืองวาด  หรือเมืองหวัด ( Yên châu )
  8. เมืองถาน ( Thần Uyên )     
  9. เมืองไล  ( Lai Châu ) เป็นเมืองศูนย์กลางของกลุ่มไทขาว
  10. เมืองสอ ( Phong Thố )
  11. เมืองเติ๊ก  ( Phu Yên )
  12. เมืองสาง ( Mộc châu )

จำนวนเมืองทั้งหมดของกลุ่มไทที่กล่าวในข้างต้นนั้น  เมืองไล  เมืองสอ เมืองเติ๊ก  และ

เมืองสาง  เป็นเมืองที่ไทด่อนอยู่อาศัย  โดยมีเมืองไลเป็นศูนย์กลาง  ส่วนเมืองศูนย์กลางของกลุ่มไทดำคือเมืองแถน  ในอดีตคนไทมีการแบ่งกลุ่มของตัวเองตามชื่อเมืองที่อาศัยอยู่ เช่น  ไทเมืองลอ  ไทเมืองสาง  เป็นต้น  ภายหลังเมื่อชาวตะวันตกเข้ามา  มีการใช้สีของชุดที่สวมใส่  และลักษณะทางกายภาพอื่นเป็นตัวแบ่งประเภทของคนไทตามโลกทัศน์ชาวตะวันตก  ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของกลุ่มคนไทในพื้นที่รวมถึงคนภายนอกที่เข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มคนไทในช่วงแรกๆ 

 

[1] คำจอง.  2537. ประวัติศาสตร์และเอกสารไทดำในเวียดนาม. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ. หน้า 2-3 .

[2] ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท . ภัททิยา  ยิมเรวัต . 2544. หน้า 15.

 

 

สภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไท  

ไทดำและไทด่อนเป็นกลุ่มคนไทที่นิยมตั้งถิ่นฐานในแถบที่ราบลุ่มหุบเขา  เลียบลำน้ำตลอดสองข้าง  ซึ่งแม่น้ำที่สำคัญคือแม่น้ำดำ หรือ  “น้ำแต”  ตามภาษาไท  หรือ  “ซงดา”  ในภาษาเวียดนาม  โดยทั่วไปแล้วไทดำและไทด่อนจะมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน  แต่จะต่างกันบ้างที่ความเชื่อเรื่องการนับถือผี  ภาษาและการแต่งกาย  เช่น  ไทดำจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่กลุ่มไทด่อนไม่มีคือการใช้  “ผ้าเปียว”  ซึ่งเป็นผ้าคลุมศีรษะสำหรับสตรีที่แต่งงานแล้ว  เป็นต้น 

การสร้างบ้านเรือนและแหล่งที่อยู่อาศัยของไทดำและไทด่อนนั้น จะมีลักษณะพิเศษของกลุ่มคนไทที่เห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันกับชนชาติอื่นๆ คือ

          1. ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์   มีทำเลเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่าน  ดังนั้นหมู่บ้านจะอยู่ระหว่างกลางของภูเขาสูงขนาบทั้งสองด้าน  ซึ่งจะไม่พบกลุ่มไทสร้างบ้านอยู่ตามสันเขาหรือที่สูงเลย

          2. การตั้งบ้านเรือนจะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกันบนที่ราบเชิงเขา  หรือเป็นที่ดอน  ส่วนที่ทำการเกษตรจะอยู่บริเวณริมแม่น้ำ  ซึ่งเป็นที่ต่ำลงมา  โดยที่ดินในการทำการเกษตรจะแยกออกมาคนละส่วนไม่ปะปนกับพื้นที่สร้างบ้านเรือนในหมู่บ้าน  เมื่อชาวบ้านออกไปทำนาก็จะเดินทางออกจากบ้านเรือนของตนไปยังที่นาซึ่งจะอยู่ใกล้กัน 

          3. ถัดจากบริเวณหมู่บ้านขึ้นไปทางเนินเขาก็จะเป็นที่ป่า  ตามความคิดของคนไทดำเชื่อว่า  ป่าคือที่อยู่ของผีซึ่งเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์  ดังนั้นบริเวณนี้จึงเป็น  “ป่าแฮ่ว”  หรือป่าช้าที่ใช้ในพิธีกรรมฝังคนตาย  โดยมีการถวายหรือทำบุญให้ศพด้วยการสร้างบ้านหลังเล็กๆ ไว้ครอบหลุมศพ  หรือเรียกว่า  “เฮือนแฮ่ว”

          4. กลุ่มคนไท  มีความสามารถในการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรอยู่บนพื้นราบ  ไม่สามารถสร้างทางกั้นน้ำได้สะดวกนัก  จึงใช้วิธีการทำกังหันวิดน้ำ  หรือ “หลุก”  ในการปันน้ำเข้าสู่ที่นา  ระบบการจัดการน้ำนี้เรียกว่า     “เหมือง  ฝาย  หลาย  ริน”[1]  มาจาก

-        เหมือง  คือ  คลองส่งน้ำ

-        ฝาย  เป็นเขื่อนกั้นน้ำและกักเก็บน้ำ

-        หลาย  คือคันดินหรืออาจจะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่ใช้กั้นเพื่อลัดน้ำ

-        ริน  คือท่อส่งน้ำไปยังแปลงนา  รินในระยะแรกน่าจะเป็นไม้ไผ่ 

 

[1] ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท . ภัททิยา  ยิมเรวัต . 2544. หน้า  51.

 

 

 เรื่องเเละภาพประกอบโดย : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา

 
ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง)
ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง)
ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง)
ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง)
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
11
4
0
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 5 มกราคม 2565 • การดู 7,170 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด