ประเพณีเลี้ยงดง บวงสรวง “ปู่แสะ ย่าแสะ”
ประเพณีเลี้ยงดง หมายถึงเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีใบป่า เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีหลายช่วงอายุคน คำว่า“ดง” เป็นภาษาพื้นเมืองไทยภาคเหนือ หมายถึง ป่าไม้หรือป่าดงดิบ ซึ่งป่าเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งมีชีวิต สภาพแวดล้อมในป่า ได้สร้างทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น พืชพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ และรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ตลอดจนเป็นต้นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ให้น้ำอุปโภค บริโภค พืชพันธุ์อาหาร และยารักษาโรค
ผีปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นชื่อที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และตำนานวัดดอยคำกล่าวกันว่าทั้งคู่เป็นยักษ์สามีภรรยา อาศัยอยู่ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงบริเวณนั้น ปู่แสะ-ย่าแสะและบุตรได้พยายามจะจับพระพุทธเจ้ากิน แต่ก็ถูกพระพุทธองค์ทรมานจนยอมแพ้และให้ถือศีล ปู่แสะ-ย่าแสะ พยายามขออนุญาตกินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งพระพุทธองค์มิได้ทรงยอมทำตาม แม้จะขอกินเลือดมนุษย์เพียงหนึ่งหยดก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน จนท้ายสุดปู่แสะ-ย่าแสะก็ขอกินควายเขาฅำ(ควายที่มีลักษณะเขายาวไม่เกินใบหู) ซึ่งพระพุทธเจ้าก็สั่งให้ทั้งสองไปขอกับเจ้าเมืองเอาเอง
ส่วนบุตรของปู่แสะ-ย่าแสะมีความประทับใจในคำสอนของพระพุทธองค์จึงขอบวช แต่พระพุทธเจ้ามิได้อนุญาต และทรงให้บวชเป็นฤๅษีเท่านั้น เมื่อบวชแล้วมีชื่อว่าสุเทวฤๅษีหรือวาสุเทวฤๅษี อันเป็นที่มาของชื่อดอยสุเทพ
บางทฤษฎีก็แสดงความคิดเห็นว่าปู่แสะ-ย่าแสะเป็นผีของลัวะที่กลายมาเป็นผีประจำเมืองเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่คุ้มครองดูแลบริเวณภายนอกเมือง โดยพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นประเพณีประจำทุกปีในเดือน ๙ เหนือคือประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเลี้ยงผีเมือง เลี้ยงอารักษ์เมืองเชียงใหม่ และทำบุญเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ในช่วงปลายเดือน 8 เหนือจนถึงต้นเดือน 9 เหนือ (ประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน)
ในอดีตการเลี้ยงควายมี 2 แห่ง แยกกันคือ ปู่แสะอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ(ดอยเหนือ) ติดกับลำห้วยฝายหิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และย่าแสะบริเวณดอยคำ ริมน้ำแม่เหียะ(ดอยใต้) แต่ละแห่งเลี้ยงที่ละ 1 ตัว ภายหลังรวมมาเป็นเลี้ยงที่เดียวคือที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 4 (แม่เหียะ) หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ป่าไม้บริเวณดังกล่าว เป็นป่าต้นน้ำของลำห้วยแม่เหียะ ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตคนในตำบลแม่เหียะ ตำบลสันผักหวาน ตำบลป่าแดด ป่าต้นน้ำในนี้ได้สร้างความสมดุลให้กับชาวเชียงใหม่หลายร้อยปีมาแล้ว
รูปแบบพิธีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะปัจจุบันใช้ควาย 1 ตัว เชือดบริเวณนั้น แล้วแล่เนื้อเป็นชิ้น ๆ กองไว้ หลังจากที่ผีปู่แสะย่าแสะลงร่างทรงแล้วก็จะมารับเครื่องเซ่นสังเวย และกินเลือด กินเนื้อควายดิบ เมื่อกินจนพอแล้วผีปู่แสะย่าแสะก็กราบไหว้ภาพพระบฏ แล้วออกร่างทรงไป ในเหตุการณ์นี้มีการสันนิษฐานไว้ว่าอาจไปเชื่อมโยงกับสังคมลัวะบรรพกาลที่นับถือธรรมชาติ เซ่นสังเวยสัตว์ให้กับผีหรือเทพของตนเอง จนได้นับถือพุทธศาสนาถึงยกระดับสังคมขึ้น จึงเลิกการฆ่าสัตว์และปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ดังเช่นผีปู่แสะย่าแสะหยุดกินเนื้อควายดิบเมื่อเห็นภาพพระบฎ ส่วนเนื้อควายที่เหลือจากการเซ่นสังเวยก็จะแบ่งปันไปยังหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงที่มีส่วนร่วมในพิธีกรรมนี้
ข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ , เทศกาลเมืองแม่เหียะ และสภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ, อาสา คำภา.ปู่แสะย่าแสะกับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |