หลังคาตองตึง

 
 

หลังคาตองตึง

          หลังคาตองตึง ทำมาจากใบต้นตองตึง คือต้นพลวงในภาษากลาง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 20 – 30 เมตร เป็นพันธุ์ไม้หลักของป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง หรือป่าแดง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร 

          หลังคาตองตึงใช้แพร่หลายในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะปัจจุบันยังพบเรือนตามชนบทของจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่อนสอน กระบวนการทำหลังคาตองตึงเกิดขึ้นในหน้าแล้งประมาณเดือนธันวาคม – มีนาคม เป็นช่วงที่ใบตองตึงกำลังร่วงเพื่อผลัดเปลี่ยนใบใหม่ โดยตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00 – 8.00 น. จะเริ่มเข้าป่าเพื่อไปเก็บใบตองตึงแห้งที่ร่วง ซึ่งในช่วงเช้าของฤดูหนาวหมอกและไอน้ำช่วยให้ใบตองตึงที่แห้งอ่อนตัวลง

การคัดเลือกใบไม้ที่ร่วงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ เพราะในป่ามีพันธุ์ไม้หลากหลาย โดยเฉพาะรูปทรงของใบสัก ใบเหียง ใบตองตึง มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ใบตองตึงที่นำมาใช้ได้ต้องมีขนาดใบค่อนข้างใหญ่ ความกว้างของใบประมาณ 20 เซนติเมตรขึ้นไป ก้านใบแข็ง รูปใบสมบูรณ์ ก่อนที่จะเย็บตองตึง นำใบตองตึงที่เก็บมาฉีดน้ำให้ทั่ว พักไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง – 1 ชั่วโมง จากนั้นนำมาเย็บติดกับก้านไม้ไผ่ความยาวประมาณ 2 – 3 เมตร ด้วยตอกเส้นที่ทำมาจากไม้ไผ่

การติดตั้งหลังคาตองตึงใช้วิธีการมัดด้วยตอก ยึดแกนไม้ไผ่ของตับหลังคาเข้ากับไม้ก้านฝ้า ข้อดีคือมีน้ำหนักเบา เป็นหลังคาที่ระบายอากาศได้ดี ภายในตัวเรือนเย็นสบาย มีอายุการใช้งาน 3 – 5 ปี หากทำกันเองในครัวเรือนก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันพบเรือนที่ยังมุงหลังคาตองตึงที่บ้านเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

 
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
33
4
2
3
1
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 5 มกราคม 2564 • การดู 9,476 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด